เมื่อพระพุทธเจ้าปะทะเกรียน ตอนที่ 2




ต่อจากตอนที่แล้ว อัมพัฏฐมาณพได้กล่าววาจาดูหมิ่นพระพุทธเจ้าถึงวงศ์ตระกูลของพระองค์ว่าเป็นตระกูลต่ำ เป็นตระกูลคนใช้

พระพุทธเจ้าทรงหวังจะเตือนสติของอัมพัฏฐมาณพให้รู้สึกตัว จึงตรัสว่า "อัมพัฏฐะ เธอมาที่นี่เพราะมีธุระก็ควรตระหนักถึงธุระนั้นไว้ให้ดี ท่านทั้งหลาย อัมพัฏฐมาณพนี้ไม่ได้รับการอบรมแต่สำคัญตนว่าได้รับการอบรมมาดี ไม่มีอะไรเลยนอกจากมารยาทของคนที่ไม่ได้รับการอบรม”

ทันทีที่ถูกพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นคนไม่ได้รับการอบรม อัมพัฏฐมาณพก็โกรธเคืองไม่พอใจ เกิดความคิดชั่วต้องการจะด่าว่าพระพุทธเจ้าให้เสียหาย จึงได้ด่าเจ้าศากยะต่อหน้าพระผู้มีพระภาคว่า
“ท่านพระโคดม คนชาติศากยะดุร้าย หยาบช้า เป็นคนรับใช้ ไม่ยอมสักการะ เคารพ บูชาพวกพราหมณ์เลย การที่คนชาติศากยะทำเช่นนั้น เป็นการไม่เหมาะไม่ควรเลย”

แม้จะถูกผู้น้อยทำเรื่องเสียมารยาทใส่ แม้จะถูกดูหมิ่นถึงวงศ์ตระกูล พระพุทธเจ้าก็ทรงวางพระองค์อย่างเป็นกลาง ทรงตรัสถามเหตุผลที่มาณพโกรธเจ้าศากยะว่า "อัมพัฏฐะ พวกเจ้าศากยะได้ทำผิดอะไร ต่อเธอหรือ?”

อัมพัฏฐมาณพเมื่อได้โอกาส ก็ทูลตอบประสบการณ์ที่ตนไปเจอเจ้าศากยะมากับตนเองว่า
“ท่านพระโคดม ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าเดินทางไปกรุงกบิลพัสดุ์ด้วยธุระของพราหมณ์โปกขรสาติผู้เป็นอาจารย์ เข้าไปที่ท้องพระโรงของพวกศากยะเวลานั้น พวกศากยะและศากยกุมารจำนวนมาก กำลังนั่งใช้นิ้วมือสะกิดหยอกล้อกันอยู่บนอาสนะสูง ในท้องพระโรง เห็นจะหัวเราะเยาะข้าพเจ้าเป็นแน่ ไม่มีใครเชื้อเชิญให้ข้าพเจ้านั่งเลย ท่านพระโคดม การที่คนชาติศากยะซึ่งเป็นคนดุร้าย หยาบช้า วู่วาม พูดพล่าม เป็นคนรับใช้ ไม่ยอมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมพวกพราหมณ์ เป็นการไม่เหมาะไม่ควรเลย"


“อัมพัฏฐะ แม้นางนกไส้ยังพูดได้ตามปรารถนาในรังของตน ก็นั่นกรุงกบิลพัสดุ์เป็นถิ่นของพวกศากยะ ท่านอัมพัฏฐะไม่น่าจะกินแหนงแคลงใจเพราะเรื่องเล็กน้อยเพียงเท่านี้” 


“ท่านพระโคดม วรรณะ 4 เหล่านี้คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร ในวรรณะทั้ง 4 นี้ แท้จริงแล้ว 3 วรรณะคือ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร เป็นคนบำเรอของพราหมณ์ การที่คนชาติศากยะซึ่งเป็นคนดุร้าย หยาบช้า วู่วาม พูดพล่าม เป็นคนรับใช้ ไม่ยอมสักการะ เคารพ นับถือ บูชานอบน้อมพวกพราหมณ์ เป็นการไม่เหมาะไม่ควรเลย” 

เป็นอันว่า อัมพัฏฐมาณพได้พูดดูหมิ่นศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้ถึงสามครั้ง ด้วยประการฉะนี้


ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า อัมพัฏฐมาณพไม่ฟังเหตุผลของพระองค์ พระองค์จึงต้องเตือนสติด้วยวิธีที่หนักขึ้นสักหน่อย "ทางที่ดี เราควรถามถึงตระกูลของเขากลับบ้าง" เมื่อทรงดำริเช่นนี้ ก็ตรัสถามมาณพว่า "“อัมพัฏฐะ เธอมีตระกูล(โคตร)อย่างไร”

เขาทูลตอบ (คงจะยืดอกอย่างภาคภูมิใจในตนมาก เมื่อดูจากการพูดจาดูถูกผู้อื่นก่อนหน้านี้) ว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าคือกัณหายนตระกูล(กัณหายนโคตร)”


“อัมพัฏฐะ เมื่อเธอระลึกถึงตระกูลเก่าแก่ของบิดามารดาของเธอดู จะรู้ว่า พวกศากยะเป็นลูกเจ้าฟ้าหลานเธอ แต่เธอกลับเป็นเพียงลูกของหญิงรับใช้ของพวกศากยะเท่านั้น!!!" 

พระพุทธเจ้าตอบความจริงที่น่าตกใจของกัณหายนโคตร แก่อัมพัฏฐมาณพ แล้วทรงเล่าถึงประวัติความเป็นมาของกัณหายนโคตร ที่ต้นตระกูลเป็นเพียงลูกของหญิงรับใช้นามว่าทิสาของพระเจ้าโอกกากราช ตรงข้ามกับต้นตระกูลของเจ้าศากยะที่พระเจ้าโอกกากราชตรัสชื่นชมว่า "เป็นผู้มีความสามารถ" อันเป็นที่มาของคำว่าศากยะนั่นเอง

แม้ในพระไตรปิฎกจะไม่ได้บันทึกต่อว่า มาณพมีอาการเช่นไรเมื่อทราบความจริงข้อนี้ ว่าที่แท้แล้ว เขาไม่ได้วิเศษวิโสอะไรหนักหนาเลย ตระกูลที่มีชื่อเสียงของเขากลับมีต้นกำเนิดที่ต่ำต้อยในแบบที่เขาดูถูกเจ้าศากยะเสียเอง ความภาคภูมิใจในตระกูลอันสูงส่งของตัวเองถูกทำลายลงเช่นนี้ คาดว่าคงจะช็อกเจ้าตัวอยู่พอสมควร เพราะเพื่อนๆมาณพที่มาด้วยกันถึงกับต้องออกโรงปกป้องอัมพัฏฐมาณพกันใหญ่...



เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป.


อ้างอิง

อัมพัฏฐสูตร http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=09&A=1920&Z=2832

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้