อธิบายคำแปลและความหมายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 7 ญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์


จักษุ (เห็น) ญาณ (รู้) ปัญญา (รู้รอบ) วิชชา (แทงตลอด) และแสงสว่าง (ดับความมืดคือความไม่รู้ได้สิ้น ไร้ข้อสงสัยอีกต่อไป) รวมเรียกว่าญาณทัสสนะ เมื่อเกิดขึ้นในอริยสัจ 4 ทั้ง 3 รอบ ญาณทัสสนะของพระองค์จึงบริสุทธิ์ดีแล้ว กำจัดความมืดคืออวิชชาได้หมดสิ้น พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายในบทธัมมจักฯนี้ว่า


            ยาวะกีวัญจะ เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง นะ สุวิสุทธัง อะโหสิ ฯ            
            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้ตามความเป็นจริงอย่างไร (ยถาภูตญาณทัสสนะ)  ในอริยสัจ 4 เหล่านี้ของเรา ซึ่งมีรอบ 3 มีอาการ 12 อย่างนี้ ยังไม่หมดจดเพียงใดแล้ว

            เนวะ ตาวาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก สัสสะมะณะพราหมะณิยา   ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง ฯ           
 
            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะยืนยันตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะปัญญาเครื่องตรัสรู้ชอบ ไม่มีความตรัสรู้อื่นจะยิ่งกว่าในโลก เป็นไปพร้อมด้วยกับเทวดา มาร พรหม ในหมู่สัตว์ ทั้งในสมณพราหมณ์ เทวดา มนุษย์ ไม่ได้เพียงนั้น

            ยะโต จะ โข เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง สุวิสุทธัง อะโหสิ ฯ            
            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล ปัญญาอันเห็นตามเป็นจริงอย่างไร (ยถาภูตญาณทัสสนะ) ในอริยสัจ 4 เหล่านี้ของเรา มีรอบ 3 มีอาการ 12 อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว 

            อะถาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง ฯ            
            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงได้ยืนยันตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ชอบ ไม่มีความตรัสรู้อื่นจะยิ่งกว่าในโลก เป็นไปกับด้วยกับเทวดา มาร พรหม ในหมู่สัตว์ ทั้งในสมณพราหมณ์ เทพยดา มนุษย์ 

            ญาณัญจะ ปะนะ เม ทัสสะนัง อุทะปาทิ            
            ก็แล ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแก่เราแล้วว่า... 

            อะกุปปา เม วิมุตติ อะยะมันติมา ชาติ นัตถิทานิ ปุนัพภะโวติ ฯ            
            การพ้นพิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก

(อานิสงส์แห่งการแสดงธัมมจักฯ ปฐมสาวกของพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น) 
            อิทะมะโวจะ ภะคะวา ฯ            
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสธรรมปริยายนี้แล้ว 

            อัตตะมะนา ปัญจะวัคคิยา ภิกขู ภะคะวะโต ภาสิตัง อะภินันทุง ฯ           
 
            พระภิกษุปัจจวัคคีย์ก็มีใจยินดีเพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า 

            อิมัสมิญจะ ปะนะ เวยยากะระณัสมิง ภัญญะมาเน           
 
            ก็แล เมื่อไวยากรณ์นี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอยู่ 

            อายัสมะโต โกณทัญญัสสะ วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง อุทะปาทิ            
            จักษุในธรรม อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่พระผู้มีอายุโกณทัญญะว่า... 

            ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ ฯ            
            "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาแล้ว สิ่งนั้นทั้งปวง ก็ต้องดับสลายไปเป็นธรรมดา" 

            ปะวัตติเต จะ ภะคะวะตา ธัมมะจักเก            
            ก็เมื่อธรรมจักรอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้เป็นไปแล้ว 

            ภุมมา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง            
            เหล่าภูมิเทวดา ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้น 

            เอตัมภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปะฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พราหมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พรัหมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสมินติ ฯ                ว่า นั่นจักรคือธรรม ไม่มีจักรอื่นสู้ได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม และใคร ๆ ในโลกยังให้เป็นไปไม่ได้ ดังนี้



การรู้แจ้งอริยสัจ 4 ด้วยญาณทัสสนะ (จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง) โดยรอบ 3 อาการ 12 ดังกล่าวมานี้คือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ที่เป็นมากกว่าญาณทัสสนะของอาฬารดาบส และอุทกดาบส อาจารย์ของพระองค์เมื่อครั้งที่พระองค์ครองเพศนักบวชใหม่ๆ เป็นญาณทัสสนะที่ประหารกิเลสจนหมด ตัดเชื้อแห่งการเกิดขึ้นในภพใหม่ หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง เป็นผลจากการปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทาของพระองค์ มานานถึง 20 อสงไขย กับอีกแสนกัป จนบารมีทั้ง 30 ทัศของพระองค์เต็มเปี่ยม เกิดเป็นพระสัพพัญญุตญาณ ทำให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมทั้งปวง ทำให้พระองค์ถูกเรียกอีกพระนามว่า พระสัพพัญญู (ผู้รู้แจ้งทุกสรรพสิ่ง) นั่นเพราะว่าพระสัมมาสัมโพธิญาณของพระองค์นั้นประเสริฐกว่าญาณทัสสนะของผู้อื่น มีอานุภาพที่ไม่มีประมาณ เกิดขึ้นเฉพาะแก่พระพุทธเจ้าเท่านั้น และนั่นทำให้พระพุทธเจ้าสามารถจะประกาศธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ หมุนกงล้อธรรมจักรซึ่งไม่มีใครสามารถจะหมุนไปได้ ให้ดำเนินไปสู่ชาวโลก และผลจากการแสดงธรรมจักรอันปะเสริฐนี้ ทำให้ท่านโกณทัญญะ หัวหน้าของปัญจวัคคีย์ ได้มีดวงตาเห็นธรรม บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พระอริยบุคคลขั้นแรกที่ก้าวข้ามกระแสขึ้นสู่กระแสแห่งพระนิพพาน เป็นปฐมสาวก ที่เกิดขึ้นด้วยปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล



ความหมายของสัญลักษณ์รูปวงล้อธรรมจักร

คำว่า "ธรรมจักร" คำที่เหล่าภุมมเทวดาผู้ฟังปฐมเทศนากล่าวนั้น มาจากคำสองคำคือ ธรรม และจักร ธรรมนั้น คือความจริงแท้ สภาพที่แท้จริง หรือความดีงาม จักร แปลโดยทั่วไปว่า ล้อ (ซึ่งในความหมายเชิงลึกคือ สิ่งที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนดำเนินไปนั่นเอง) ธรรมจักรจึงมีความหมายว่า ล้อแห่งธรรม  คือจักรแห่งธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าได้ทรงหมุนให้ขับเคลื่อนไปในใจของชาวโลก เพื่อให้ได้ตรัสรู้ธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั่นเอง ต่อมารูปธรรมจักร จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา ตามธัมมจักกัปปวัตตนสูตรซึ่งเป็นปฐมเทศนาของพระองค์ 


           "มีการอธิบายรูปกงล้อธรรมจักร กับการตรัสรู้อริยสัจของพระพุทธเจ้าว่า  “ล้อหรือจักรย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ดุม จุดศูนยกลางของล้อ กำ ซี่ของล้อ และกง ขอบรอบนอกสุดของล้อ ส่วนจักรธรรมนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาเปรียบ โพธิปักขิยธรรมเป็นดุม”  ปฏิจจสมุปบาทธรรม เป็นกำและ อริยสัจ 4 เป็นกงบางนัยยะกล่าวว่า ซี่ของล้อธรรมจักร อาจหมายถึง อาการ 12 ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจก็ได้เช่นกัน บางแห่งก็อธิบายว่ากงรอบนอกนั้นหมายถึงความเป็นไปของพระสัทธรรม หรือวงเวียนของสังสารวัฏก็ได้"


สาเหตุที่ต้องเรียกว่าล้อแห่งธรรม นั่นเพราะว่าในสมัยพุทธกาล ล้อทำให้เกิดการขับเคลื่อนที่สะดวกสบายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไกล หรือการบรรทุกสินค้าทางบก ก็ล้วนต้องอาศัยล้อเป็นตัวขับเคลื่อนทั้งนั้น ล้อจึงเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ ความมีอารยธรรม  ของเมืองที่เจริญแล้วในสมัยนั้น เป็นตัวนำพาความเจริญไปยังที่ต่างๆ เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ก็เป็นการหมุนล้อแห่งธรรมของพระองค์ให้ออกเคลื่อนที่เพื่อนำพาความเจริญในจิตใจไปสู่ใจของชาวโลกอย่างยาวนานมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ ปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าจึงชื่อว่า ธัมมจักกัปวัตตนสูตร พระสูตรอันยังธรรมจักรให้เป็นไป แม่บทแห่งพระธรรม 84,000 ธรรมขันธ์ของพระองค์ นำพาบุคคลผู้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้องไปสู่สวรรค์นิพพาน


ธรรมจักรได้หมุนมาได้ประมาณ 26,00 กว่าปีแล้ว ด้วยการปฏิบัติดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา (อริยมรรค 8 ประการ) ตราบใดที่ชาวพุทธยังคงยึดมัชฌิมาปฏิปทาเป็นแนวทางปฏิบัติตน ธรรมจักรของพระพุทธเจ้าก็จะยังคงหมุนต่อไป แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร ก็จะนำพาผู้ปฏิบัติให้ลุถึงสวรรค์นิพพาน แต่เมื่อใดที่ชาวพุทธละเลยการปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทานี้เสีย ก็จะทำให้ธรรมจักรหยุดหมุน และกลืนหายไปตามกระแสของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิตย์ นั่นหมายถึงความดับสูญของพระพุทธศาสนา ความดับสูญของหนทางนำไปสู่พระนิพพาน ทำให้เหล่าสรรพสัตว์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้อย่างไร้ที่พึ่ง หมดโอกาสที่จะได้ศึกษาความรู้อันสำคัญนี้ จนกว่าพระพุทธเจ้าองค์ใหม่จะมาตรัสรู้ ธรรมจักรนี้จึงจะสามารถหมุนได้อีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจและปฏิบัติให้ดี โดยไม่ปล่อยปละละเลย เป็นการรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป.

เมื่อพระพุทธองค์แสดงปฐมเทศนาจบลง ก็ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น ซึ่งจะขอกล่าวในตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนจบ


จบตอนที่ 7


อ้างอิง
หนังสือศัพท์วิเคราะห์ โดยพระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช)
แม่บทแห่งธรรม ธัมมจักกัปปวัตนสูตร
http://www.dmc.tv/page_print.php?p=top_of_week/%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1-%E0%B8%98%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9B%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3.html

บทความพิเศษ : ธรรมจักรหมุน ทางเป็นมัชฌิมา ถึงพุทธศาสนาทันที
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9540000081820

เสมาธรรมจักร สัญลักษณ์และความหมาย
<http://www.vesakday.mcu.ac.th/vesak47/about/about_battlements.php>

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้