
อธิบายคำแปลและความหมายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 3 ทุกข์อริยสัจ
จักขุ (เห็น) ญาณ (รู้) ปัญญา (รู้รอบ) วิชชา (รู้แจ้ง) แสงสว่าง (ไม่มีความมืดคืออวิชชา, ไร้ข้อสงสัย) เกิดขึ้นแก่พระองค์ ในอริยสัจทั้ง 4 แต่ละข้อ ทำให้พระองค์รู้ชัดในอริยสัจอย่างแจ่มแจ้ง ในอรรถกถาได้อธิบายเสริมว่าญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์ของพระองค์ ได้เกิดในอริยสัจ 3 รอบดังนี้
รอบที่ 1 สัจจญาณ คือญาณที่ทำให้รู้ว่านี้เป็นอริยสัจจริง
รอบที่ 2 กิจจญาณ คือญาณที่ทำให้รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับอริยสัจข้อนั้นๆ
รอบที่ 3 กตญาณ คือญาณที่ทำให้ทรงรู้ว่าพระองค์ได้ทำสำเร็จแล้ว
เมื่อรวมญาณ 3 รอบ เข้าในอริยสัจ 4 แต่ละข้อ จึงรวมเป็นอาการ 12 อันเป็นอาการที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อริยสัจ ทำให้พระองค์ตรัสรู้ธรรม หลุดพ้นจากกองทุกข์ในสังสารวัฏได้อย่างแท้จริง
บทสวดธัมมจักในส่วนนี้จะเป็นการบรรยายถึงการตรัสรู้อริยสัจทั้ง 4 ของพระพุทธเจ้าโดยรอบ 3 อาการ 12 โดยลำดับ
(ตรัสรู้ทุกขอริยสัจ)
(สัจจญาณ)"อิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ"
"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว
ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้ว ในกาลก่อนว่า นี่ (อุปาทานขันธ์) เป็นทุกข์อริยสัจ"
(กิจจญาณ)"ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ"
"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ก็ทุกข์อริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้"
(กตญาณ)"ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญญาตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ"
"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ก็ทุกข์อริยสัจนี้นั้นแล เราได้กำหนดรู้แล้ว"
กล่าวโดยสรุป ทุกข์อริยสัจนี้ ก็คืออุปาทานขันธ์ ขันธ์ตัวที่ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น ได้แก่ความยึดมั่นในขันธ์ 5 คือ…
1. รูป
2. เวทนา
3. สัญญา
4. สังขาร
5. วิญญาณ
เบญจขันธ์นี้ หากมารวมกันเป็นหนึ่ง จะถูกจัดเข้าในนามรูป (คือจิตใจและร่างกายในภาษาธรรมะ) สามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆคือ รูปเป็นส่วนของรูป
เวทนา สัญญา สังขาร ละวิญญาณเป็นส่วนของนาม
จึงรวมเป็นนามรูป ตัวร่างกายและจิตใจของเราๆท่านๆนี้เอง
เบญจขันธ์นี้มีอยู่ในทุกสิ่งมีชีวิตในสังสารวัฏไม่ว่าจะเป็นเทวดา มนุษย์ สัตว์เดียรัจฉาน หรือกระทั่งสัตว์นรก ยกเว้นในพรหมบางประเภทเท่านั้นที่ไม่มีขันธ์ครบทั้ง 5 ประการ เช่นในอรูปพรหม มีเพียงขันธ์ 4 ตัดรูปออกไปเป็นต้น จึงกล่าวได้ว่าเบญจขันธ์นี้เป็นกระบวนการทำงานของสิ่งมีชีวิตในกามภพทั้งหมดรวมถึงรูปภพบางส่วน ในการรับรู้อารมณ์ที่มาสู่ตนนั่นเอง นี่คือเบญจขันธ์
ถ้าเราเกิดอุปาทานในเบญจขันธ์เหล่าใด เบญจขันธ์เหล่านั้นก็เป็นอุปาทานขันธ์ (ขันธ์ที่ทำให้เกิดความยึดมั่น) ต่อเรา กลายเป็นรูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป) เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา) สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา) สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร) และวิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ) ที่ทำให้เรายึดติด
กระบวนการของเบญจขันธ์นี้กำหนดได้ยาก เพราะเป็นกระบวนการที่สืบต่อเนื่องถึงกันจนยากจะแยกออกจากกันได้ แต่พอจะอธิบายเป็นแนวทางได้ดังนี้
ตัวอย่างเช่นเราอยากกินส้มตำของร้านอาหารแห่งหนึ่งเพราะได้ข่าวว่าอร่อย ในตอนแรก ส้มตำอาจจัดเป็นรูปต่อเรา เพราะยังเป็นการรับรู้อารมณ์ภายนอกเท่านั้น ต่อมาเมื่อเราได้มากินรู้รสชาติของส้มตำ จึงเกิดเป็นเวทนา เพราะส้มตำสร้างเวทนาให้ต่อเรา เมื่อเกิดเวทนา ก็เกิดสัญญา ความจดจำอารมณ์ที่มากระทบนั้น แล้วก็เกิดสังขารคือการปรุงแต่งอารมณ์ที่มากระทบว่าเป็นอย่างไร? ส้มตำหวานไปหรือเผ็ดไปไหม? แล้วสรุปที่วิญญาณ คือรู้ชัดว่าส้มตำอร่อยจริงดังที่ได้ยินมาหรือไม่? เมื่อเรารับรู้รสชาติส้มตำว่าอร่อยจริง ถูกใจเรา เราก็อยากกินอีก อาจจะสั่งจานสอง หรือหวนกลับมากินอีกเมื่อมีโอกาส เมื่อเป็นเช่นนี้ ส้มตำก็กลายเป็นอุปาทานขันธ์ของเรา เพราะทำให้อุปาทานเกิดขึ้นแก่เราก็กลายเป็นรูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ และวิญญาณูปาทานขันธ์ ทำให้เราต้องไปซื้อมากินอีกเป็นต้น นี้เป็นตัวอย่างแสดงการทำงานของเบญจขันธ์พอสังเขป
ขันธ์ทั้ง 5 เป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินชีวิตชนิดที่ไม่อาจแยกได้แล้ว และยังเป็นสิ่งที่เหนี่ยวรั้งใจให้ยึดติดจนนำทุกข์มาให้ พระพุทธเจ้าครั้นทรงตรัสรู้ทุกข์อริยสัจแล้ว ก็ทรงสรุปอุปาทานขันธ์เป็นตัวทุกข์ เพราะทรงเห็นแจ้งขันธ์ทั้ง 5 ตามกฎไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยงแท้ (อนิจจัง) มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่ได้คงอยู่เหมือนเดิมเสมอ จึงทำให้เป็นทุกข์ (ทุกขัง) หากไปยึดติด ก็ต้องทุกข์เพราะพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก และท้ายที่สุดเพราะเปลี่ยนแปลงไม่คงเดิม ทำให้เป็นทุกข์หากไปยึดติด จึงเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนที่ควรจะยึดติดไว้ (อนัตตา) เพราะแรกเริ่มก็เกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างๆประกอบกันเข้าเป็นเบญจขันธ์ เป็นตัวเรา ตัวคนอื่น เหมือนๆกันภายในสังสารวัฏนี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วเสื่อมสลายไปสู่เบญจขันธ์อื่นอีกเรื่อยไปไม่มีสิ้นสุด การยึดติดขันธ์จึงเป็นทุกข์เช่นนี้ เมื่อยึดติด จึงทำให้ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพต่อไป ความทุกข์ต่างๆจึงตามมาเพราะอาศัยอุปาทานขันธ์นี้

นอกจากนี้อุปาทานขันธ์ยังเป็นสาเหตุแห่งการทำบาปด้วยเช่นกัน สำหรับบางคนถ้ายึดติดจนถึงขนาดก่อบาปกรรมเพื่อให้ได้อุปาทานขันธ์นั้นมาครอบครอง ก็มีให้เห็นมิใช่น้อย จะยิ่งเป็นทุกข์เพราะต้องรับผลแห่งบาปของตนเข้าไปอีก จึงไม่น่าแปลกที่ขันธ์จะถูกจัดเป็นหนึ่งในมารทั้ง 5 ฝูง เรียกว่าขันธมาร ตัวขัดขวางการทำความดีนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ แม้เราจะยังไม่อาจตัดได้เด็ดขาด ก็ควรจะกำหนดรู้เห็นอุปาทานขันธ์ของเราตามแบบที่พระพุทธเจ้าสอน และหมั่นปฏิบัติตามมรรคทั้ง 8 ประการอันเป็นหนทางสู่นิโรธอยางสม่ำเสมอ เพื่อรู้เห็นเบญขันธ์ตามความเป็นจริง เพื่อตัดอุปาทานในขันธ์ จะมีผลทำให้กำลังของกิเลสลดลงไป ยิ่งยึดติดน้อย ก็ยิ่งทำให้ทุกข์น้อยลง ยึดแนวทางมรรคมีองค์ 8 ไว้เพื่อไม่ให้หลุดไปจากหนทางแห่งพระนิพพาน แม้จะยังไปไม่ถึงในชาตินี้ แต่สุดท้ายก็จะมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป


--------------------
พระพุทธเจ้าทรงกำหนดรู้ตัวความทุกข์ในสังสารวัฏได้อย่างแจ้งชัด ทรงเห็นกองของสภาวธรรมต่างๆ ในขณะที่ปุถุชนทั่วไปเห็นเป็นตัวเราของเรา นี้น่าจะเป็นสาเหตุที่พระองค์ตรัสเรียกว่าอัตภาพต่างๆว่าขันธ์ ซึ่งมีคำแปลว่า กอง เพราะเป็นกองแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณนั่นเอง
จักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่างเกิดพร้อมแก่พระพุทธเจ้าในอริยสัจข้อที่ 1 นี้ทั้ง 3 รอบ พระองค์จึงชื่อว่าตรัสรู้ทุกข์อริยสัจอย่างแจ่มแจ้งแล้ว
การตรัสรู้ทุกขอริยสัจมีอธิบายดังที่กล่าวมานี้
ส่วนการตรัสรู้ทุกขสมุทัยอริยสัจ จะขออธิบายในตอนต่อไป.
--------------------
การตรัสรู้ทุกขอริยสัจมีอธิบายดังที่กล่าวมานี้
ส่วนการตรัสรู้ทุกขสมุทัยอริยสัจ จะขออธิบายในตอนต่อไป.
จบตอนที่ 3
อ้างอิง
สัจจญาณจตุกกทวยนิทเทส (มจร. ขุ.ป. 31/108-110/168-170)
อรรถกถาปฐมตถาคตสูตร (มมก. 31/1673/426)
อรรถกถาธรรมจักรกัปปวัตตนวาระ (มมก. 69/613/580)
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร): เบญจขันธ์
https://www.youtube.com/watch?v=s0w5jbWJr20
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร): โพธิปักขิยธรรมกถา อริยอัฏฐังคิกมรรค https://www.youtube.com/watch?v=0EhDs9fmQHY
GB 101 ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา
http://www.kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=13409
บทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (พร้อมคำแปล)
https://www.dmc.tv/pages/praying/Dhammajak.html>
ขันธ์ 5 ในภพต่างๆ
http://www.dhammahome.com/webboard/topic/24227
อ้างอิง
สัจจญาณจตุกกทวยนิทเทส (มจร. ขุ.ป. 31/108-110/168-170)
อรรถกถาปฐมตถาคตสูตร (มมก. 31/1673/426)
อรรถกถาธรรมจักรกัปปวัตตนวาระ (มมก. 69/613/580)
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร): เบญจขันธ์
https://www.youtube.com/watch?v=s0w5jbWJr20
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร): โพธิปักขิยธรรมกถา อริยอัฏฐังคิกมรรค https://www.youtube.com/watch?v=0EhDs9fmQHY
GB 101 ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา
http://www.kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=13409
บทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (พร้อมคำแปล)
https://www.dmc.tv/pages/praying/Dhammajak.html>
ขันธ์ 5 ในภพต่างๆ
http://www.dhammahome.com/webboard/topic/24227
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น