เมื่อพระพุทธเจ้าปะทะเกรียน ตอนที่ 1




หนึ่งในเรื่องไม่ดีที่ไม่ว่าใครต่างก็พบเจอในชีวิตก็คือ การถูกว่าร้ายโจมตีจากคนที่ไม่ชอบเรา ทำให้เราต้องอารมณ์เสีย และทำให้เราเสียภาพพจน์ต่อบุคคลอื่นด้วยผลจากการว่าร้ายของคนอื่น ถ้าเป็นคนที่ว่าร้ายเป็นคนมีเหตุผล ก็ยังพอจะหาสาเหตุพูดคุยกันเพื่อจบปัญหาได้ แต่บางรายก็ฉอดๆมาจ้องแต่โจมตีเราอย่างเดียวโดยไม่ฟังเหตุผลใดๆทั้งสิ้น อธิบายอย่างไรก็ไม่รับฟัง เพียงเพื่อระบายอารมณ์ใส่  เพื่อทำให้ตนเองรู้สึกเหนือกว่า โดยหารู้ไม่เลยว่า ยิ่งทำตัวเช่นนี้ ก็ยิ่งทำให้ผู้คนมองว่าตนเป็นคนมีปมด้อย ไม่อาจจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของตนได้ จึงหาทางออกด้วยการทำแย่ๆใส่ผู้อื่นเท่านั้น

บุคคลประเภทนี้ถูกเรียกในปัจจุบันว่า "เกรียน" เป็นบุคคลที่เล่นสนุกด้วยการก่อกวนผู้อื่น โจมตีกลั่นแกล้งต่างๆนานาเพียงเพราะนึกสนุกเท่านั้น เป็นตัวสร้างมะเร็งทางอารมณ์ต่อผู้คนที่ได้พบเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ที่มีโซเชียลแล้ว ทำให้เราได้เห็นเกรียนตามสื่อต่างๆได้ง่ายขึ้น

ทราบหรือไม่ว่า เกรียนไม่ใช่เพิ่งมีในปัจจุบันเท่านั้น แต่มีตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล และครั้งหนึ่งแม้แต่พระพุทธเจ้าบรมครูของพวกเราทั้งหลายก็ยังต้องเจอกับคนแบบนี้เช่นกัน ปรากฏอยู่ในเนื้อหาส่วนหนึ่งของ อัมพัฏฐสูตร โดยผู้เขียนจะขอนำมาเล่าโดยสรุปเท่านั้น

เรื่องก็มีอยู่ว่า สมัยหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล  พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ 500  รูป  เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชาวโกศลชื่ออิจฉานังคลคามประทับอยู่  ณ  ราวป่าอิจฉานังคลวัน ใกล้อิจฉานังคลคาม ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่าโปกขรสาติ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันของผู้คน ได้ปกครองเมืองอุกกัฏฐะซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยงมากมาย ได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธเจ้าว่าทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ  เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ตนปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ แต่ก็อยากแน่ใจว่าบุคคลที่ตนได้ยินมานั้นเป็นพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่ เนื่องจากตนรู้มนต์ทำนายลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ รู้ว่าผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ต้องมีลักษณะมหาบุรุษ จึงได้ส่งลูกศิษย์คนหนึ่งผู้มีความรู้มนต์ทำนายลักษณะเช่นเดียวกับตนไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อน เพื่อดูว่าพระองค์มีลักษณะมหาบุรุษครบทั้ง 32 ประการหรือไม่?

พราหมณ์ต้องการจะพิสูจน์ความเชื่อของตนด้วยความอยากรู้ความจริง แต่พราหมณ์กลับพลาดไปเรื่องหนึ่งคือ ไม่ได้พิจารณาเลือกคนที่จะไปทำงานให้ตนอย่างถี่ถ้วน สุดท้ายคนที่ตนส่งไปกลับด่าว่าพระพุทธเจ้าออย่างรุนแรง กลายเป็นสร้างปัญหาใหญ่ให้กับตนในเวลาต่อมา ชนิดว่าหากไม่ใช่เป็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงมหากรุณาแล้ว สิ่งที่ลูกศิษย์ของตนทำไปอาจทำให้เกิดสงครามได้เลยทีเดียว

เรามาฟังกันต่อว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไร...

ลูกศิษย์ตัวดีที่มารับหน้าที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแทนพราหมณ์นั้น เป็นมาณพมีชื่อว่าอัมพัฏฐะ กัณหายนโคตร ซึ่งเป็นตระกูลที่มีชื่อเสียง มีการศึกษา พูดจาน่าเชื่อถือ เขาออกเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากับมาณพอีกหลายคนมาเฝ้าพระพุทธเจ้าในวิหาร พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงปฏิสันถารกับมาณพเหล่านั้น เมื่อสนทนาปราศรัยพอสมควร มาณพที่เหลือก็นั่งลง ณ ที่สมควรแก่ตน มีแต่อัมพัฏฐมาณพเท่านั้นที่ยืน และเดินไปมาซึ่งเป็นการเสียมารยาทต่อการมาเฝ้าผู้ที่เป็นผู้ใหญ่กว่าตน

พระพุทธเจ้าทรงเห็นอากัปกิริยาของมาณพ จึงตรัสถามว่า "“อัมพัฏฐะ เธอเคยสนทนากับพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้เป็นอาจารย์ เหมือนดังที่เธอเดินบ้าง ยืนบ้าง สนทนากับเราผู้นั่งอยู่เช่นนี้หรือ?”

แทนที่อัมพัฏฐมาณพจะรู้สึกตัวว่าทำตัวไม่เหมาะสมอยู่ กลับแสดงเรื่องที่ขัดกับสกุลอันสูงส่ง และชื่อเสียงอันดีงามของอาจารย์ตน เขาตอบกลับพระพุทธเจ้าว่า


"ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านพระโคดม แท้จริงพราหมณ์ผู้เดินก็ควรสนทนากับพราหมณ์ผู้เดิน พราหมณ์ผู้ยืนก็ควรสนทนากับพราหมณ์ผู้ยืน พราหมณ์ผู้นั่งก็ควรสนทนากับพราหมณ์ผู้นั่ง พราหมณ์ผู้นอนก็ควรสนทนากับพราหมณ์ผู้นอน แต่ข้าพเจ้ากำลังสนทนากับสมณะศีรษะโล้น ผู้เป็นคนรับใช้ เป็นคนวรรณะต่ำ เกิดจากพระบาทของท้าวมหาพรหมเหมือนท่านพระโคดมต่างหาก!!!”

ไม่ต้องตีความ เราก็เข้าใจความหมายได้ทันทีว่า มาณพกำลังพูดจาดูหมิ่นพระพุทธเจ้าว่าเป็นคนวรรณะต่ำ เป็นคนรับใช้ ทั้งที่พระพุทธเจ้าทรงเกิดในตระกูลกษัตริย์ศากยวงศ์ ที่ปกครองเมืองกบิลพัสดุ์ แม้อัมพัฏฐมาณพจะเกิดในตระกูลที่มีชื่อเสียง ก็ไม่มีทางจะเทียบเท่าได้เลยแม้แต่น้อย แต่อัมพัฏฐมาณพกลับดูหมิ่นพระพุทธเจ้า กระทบไปถึงวงศ์ตระกูลขอพระองค์อีกด้วย...



สำหรับประเทศอินเดียเป็นที่ทราบกันว่า ระบบชนชั้นวรรณะแบ่งแยกกันเพียงใด และการดูหมิ่นกันเรื่องวงศ์ตระกูลก็ยังเป็นเรื่องร้ายแรงในปัจจุบันเช่นกัน ดังที่ปรากฏในธรรมบทว่าครั้งหนึ่งพระญาติฝ่ายศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ ถึงกับจะก่อสงครามกัน เพราะดูหมิ่นกันเรื่องวงศ์ตระกูลของกันและกัน หรือแม้แต่พระเจ้าวิฑูฑภะที่กลับมาฆ่าล้างตระกูลศากยวงศ์ เพราะได้ทราบว่าตนเกิดขึ้นจากหญิงจัณฑาลที่เจ้าศากยะหลอกลวงว่าเป็นเจ้าหญิงแล้วส่งไปอภิเสกสมรสกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ทำนองเดียวกัน ในยุคที่วรรณะเป็นเรื่องสำคัญยิ่งเช่นนี้ พฤติกรรมของอัมพัฏฐมาณพจึงไม่ต่างอะไรกับหาเรื่องเปิดสงครามกันเลยทีเดียว...

เมื่อต้องพบเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ พระพุทธเจ้าจะทรงทำเช่นไร?

โปรดติดตามตอนต่อไป.


อ้างอิง

อัมพัฏฐสูตร http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=09&A=1920&Z=2832

เรื่องระงับความทะเลาะแห่งหมู่พระญาติ  http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=25&p=1


เรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะ http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=14&p=3

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้