อธิบายคำแปลและความหมายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 8 (ตอนจบ)
เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงการตรัสรู้อริยสัจของพระองค์จบลง
ก็ได้บังเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นดังนี้
ภุมมานัง เทวานัง สัททัง สุตวา จาตุมมะหาราชิกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ เทพเจ้าเหล่าชั้นจาตุมหาราช ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าภูมิเทวดาแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น
จาตุมมะหาราชิกานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ตาวะติงสา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ เทพเจ้าเหล่าชั้นดาวดึงส์ ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น
ตาวะติงสานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ยามา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
เทพเจ้าเหล่าชั้นยามา ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น
ยามานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ตุสิตา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
เทพเจ้าเหล่าชั้นดุสิต ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นยามาแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น
ตุสิตานัง เทวานัง สัททัง สุตวา นิมมานะระตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
เทพเจ้าเหล่าชั้นนิมมานรดี ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นดุสิตแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น
นิมมานะระตีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา ปะระนิมมิตะวะสะวัตตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
เทพเจ้าเหล่าชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นนิมมานรดีแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น
ปะระนิมมิตะวะสะวัตตีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา พรัหมะกายิกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง
พรหมเจ้าที่เกิดในชั้นพรหม ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่นขึ้นว่า...
เอตัมภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัป-ปะฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พราหมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พรัหมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสมิน-ติ ฯนั่นจักรคือธรรม ไม่มีจักรอื่นสู้ได้อันพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม และใคร ๆ ในโลก ไม่สามารถให้เป็นไปได้ดังนี้ ฯ
อิติหะ เตนะ ขะเณนะ เตนะ มุหุตเตนะ ยาวะ พรัหมะโลกา สัทโท อัพภุคคัจฉิ ฯ
โดยขณะหนึ่งครู่หนึ่งนั้น เสียงขึ้นไปถึงพรหมโลกด้วยประการฉะนี้ ฯ
อะยัญจะ ทะสะสะหัสสี โลกะธาตุ สังกัมปิ สัมปะกัมปิ สัมปะเวธิ ฯ
ทั้งหมื่นโลกธาตุ ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้านลั่นไป
อัปปะมาโณ จะ โอฬาโร โอภาโส โลเก ปาตุระโหสิ
ทั้งแสงสว่างอันใหญ่ยิ่งไม่มีประมาณ ได้ปรากฏแล้วในโลก
อะติกกัมเมวะ เทวานัง เทวานุภาวัง ฯ
ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลายเสียหมด ฯ
อะถะ โข ภะคะวา อุทานัง อุทาเนสิ
ในลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า
อัญญาสิ วะตะ โภ โกณทัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณทัญโญติ
โกณทัญญะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ โกณทัญญะได้รู้แล้วหนอ ผู้เจริญ
อิติหิทัง อายัสมะโต โกณทัญญัสสะ "อัญญาโกณทัญโญ" เตววะ นามัง อะโหสีติ ฯ
เพราะเหตุนั้น นามว่า "อัญญาโกณทัญญะ" นี้นั่นเทียว ได้มีแล้วแก่พระโกณทัญญะผู้มีอายุ ด้วยประการฉะนี้ แล ฯ
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบลง
ก็พลันเกิดเหตุอัศจรรย์ ทวยเทพทุกชั้นฟ้าจนถึงชั้นพรหมต่างก็บันลือลั่นสาธุการ
ทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุต่างสะเทือนเลือนลั่น
แสงสว่างอย่างไม่มีประมาณปรากฏเกิดขึ้นในโลก
เป็นสัญญาณแห่งการเกิดขึ้นของพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า
จักรแห่งธรรมอันเปิดเผยแสดงอริยสัจความจริงอันประเสริฐ
และแสดงทางนำไปสู่ความดับทุกข์ได้เป็นไป
เพื่อนำพาผู้ปฏิบัติอย่างถูกต้องให้ลุถึงความหลุดพ้นจากสังสารวัฏ
ได้เป็นไปในโลกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา...
สรุป
บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า เป็นพระธรรมเทศนาที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
พระธรรมเทศนาอื่นๆที่พระพุทธเจ้าตรัสในภายหลัง
ล้วนเป็นไปตามแนวทางของบทธัมมจักฯนี้ทั้งสิ้น มีเนื้อหาธรรมะที่เรียบง่าย ชัดเจน
แต่มีความละเอียดลึกซึ้ง ที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น
ยิ่งได้ศึกษาก็ยิ่งทำให้ต้องศึกษาเชื่อมโยงไปถึงหลักธรรมข้ออื่นๆ
จึงจะเข้าใจความหมายของบทธัมมจักกัปวัตตนสูตรนี้ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
เมื่อศึกษาจนเข้าใจจึงได้ค้นพบว่า
หลักธรรมต่างๆตั้งแต่ระดับพื้นฐานอย่างศีล 5 ไปจนถึงหลักธรรมที่ลึกซึ้งอย่างปฏิจจสมุปบาทล้วนมีรากฐานมาจากบทธัมมจักกัปวัตตนสูตรนี้เอง
ในฐานะเป็นปฐมเทศนาบทธัมมจักฯได้แสดงภาพรวมของพระธรรม 84,000 พระธรรมขันธ์โดยสรุปลงในบทเดียว
เป็นการแสดงถึงแนวทางการสั่งสอนโปรดสรรพสัตว์ของพระพุทธเจ้า
ที่มีเป้าหมายคือความดับทุกข์
และมีวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์อย่างชัดเจน อย่างที่ไม่มีใครในโลกสามารถทำได้
ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา หรือพรหมก็ตาม จนสามารถกล่าวได้ว่า
หากยังไม่เข้าใจบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเสียแล้ว
ก็นับว่ายังไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
ถึงเข้าใจก็เข้าใจเพียงบางส่วนโดยผิวเผินเท่านั้น แต่ถ้าได้ศึกษาจนเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว
จึงนับว่าเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า
และจะสามารถเข้าใจคำสอนอื่นๆจองพระพุทธเจ้าได้โดยไม่ยากเย็นเลย
เพราะได้เข้าใจแก่นแท้ของพระพุทธศาสนานี้แล้วนั่นเอง
ยิ่งถ้าได้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้องสม่ำเสมอแล้ว
ก็จะเกิดประโยชน์สุขต่อตนเองและผู้อื่น อยู่เป็นสุขในภพปัจจุบัน
มีสวรรค์นิพพานเป็นที่ไปในภพหน้า
นี่เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ที่เราจะประสบได้ด้วยการปฏิบัติด้วยตนเองต่อไป
อานิสงส์แห่งการสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแต่ละครั้งนั้น
เป็นการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย เป็นการสาธยายพระธรรมคำสอนบทแรกของพระพุทธเจ้า
และยังเป็นการทำใจของเราให้ผ่องใส ปราศจากกิเลส จิตเป็นกุศล นำพาให้เกิดการคิด พูด
ทำความดี ตามหลักของอริยมรรคทั้ง 8 ประการไปในเวลาเดียวกัน อานิสงส์สูงสุดคือการเข้าถึงธรรม
เพราะฉะนั้น เราผู้สวดธัมมจักโปรดรู้ไว้เถิดว่า
ได้สาธยายพระธรรมเทศนาที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา โปรดจงตั้งใจสาธยายโดยเคารพเถิด
ยิ่งเราสาธยายมากเท่าใด ก็จะอานิสงส์ดังที่กล่าวมา ยิ่งถ้าทราบความหมาย
ก็เป็นการได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้เราได้เข้าใจธรรมอย่างลึกซึ้งขึ้นไปอีก
จึงขอให้ทุกท่านได้มีสัมมาทิฐิ และสัมมาสังกัปปะ
ตั้งมั่นในสัมมาวายามะ มีสัมมาสติประคับประคอง มาสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ซึ่งเป็นสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ อย่างต่อเนื่องจนเป็นสัมมาอาชีวะ
อันจะเป็นไปเพื่อให้เกิดสัมมาสมาธิในใจของเราเอง
ก้าวสู่มัชฌิมาปฏิปทาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
และลุถึงนิโรธความดับทุกข์ในที่สุด...
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
1) ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 (ฉบับมจร.) พุทธวังสะ จริยาปิฎก ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าถึงประวัติพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆตั้งแต่พระโกณฑัญญพุทธเจ้า มาจนถึงพระองค์เองเป็นลำดับสุดท้ายรวม 24 พระองค์ ซึ่งเนื้อหาตอนที่แต่ละพระองค์ได้แสดงปฐมเทศนา จะใช้คำว่า "ทรงยังพระธรรมจักรให้เป็นไป" บ้าง "แสดงอริยสัจ" บ้าง จึงเป็นไปได้ว่า บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นก่อนหน้าพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายเช่นกัน ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะทรงตรัสแสดงธรรมและวินัยไม่เท่ากันก็ตาม
2) บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นบทที่มีในพุทธทุกนิกาย แม้ปัจจุบันพุทธจะมีหลายนิกาย แต่ก็มีบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้เป็นคำสอนเดียวกันในพระพุทธศาสนา
3) นอกจากพระอัญญาโกณทัญญะจะบรรลุธรรมเมื่อฟังบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบแล้ว ยังมีเทวดาและพรหมอีก 18โกฏิที่ได้ฟังแล้วบรรลุธรรมในวันนั้นด้วยเช่นกัน (มจร. 33/26/718)
4) พระพุทธเจ้าตรัสบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และไม่ปรากฏว่าพระองค์ได้แสดงบทธัมมจักฯนี้ที่ไหนอีก
5) มรรค 8 ประการเป็นหนึ่งในโพธิยปักขิยธรรม (ธรรมที่เป็นไปในฝ่ายแห่งการตรัสรู้ธรรม) 37 ประการ (สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 มรรค 8)
6) พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้แผ่นดินไหว 8 ประการ (อ้างอิงจากมหาปรินิพพานสูตร)
7) ผลจากการประกาศปฐมเทศนา พระโกญฑัญญะก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นปฐมสาวกองค์แรกของพระพุทธเจ้า ทำให้พระรัตนตรัยครบองค์สาม เป็นก้าวแรกแห่งการแสดงธรรมโปรดเวเนยยสัตว์ที่สำเร็จอย่างงดงามของพระพุทธเจ้า
8) เมื่อปฏิบัติอริยมรรคทั้ง 8 ประการอย่างสมบูรณ์ดีแล้ว จะทำให้เกิดมรรคอีกสองคือ สัมมาญาณะ (ความรู้อย่างถูกต้อง) และสัมมาวิมุตติ (ความหลุดพ้นอย่างถูกต้อง) ตามมา
9) ตัณหานั้นอาจมีได้ในระหว่างการเจริญภาวนา เรียกกันว่า นิโรธตัณหา คือความอยากในนิโรธ ได้แก่ความอยากที่จะเข้าถึงธรรม ซึ่งจะทำให้ใจไม่เป็นสัมมาสมาธิ จึงไม่อาจจะเข้าถึงธรรมได้ และบางครั้งเมื่อได้เห็นนิมิตในขณะเจริญภาวนา อาจทำให้เกิดการยึดติดในนิมิตที่เห็น เรียกกันว่า "วิปัสสนูปกิเลส" (อุปกิเลสในขณะเจริญวิปัสสนา) หลงคิดว่าได้บรรลุธรรมแล้วทั้งที่ไม่ใช่ ฉะนั้นจึงขณะที่เจริญภาวนา จึงต้องทำใจให้สงบการกิเลส วางเฉยต่อนิมิตที่เกิดขึ้น เพื่อให้ใจเป็นสัมมาสมาธิ จงจำไว้เสมอว่า "นิโรธคือความดับตัณหา ถ้ายังมีตัณหา ก็ไม่อาจไปถึงนิโรธได้"
10) สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักบวช พระพุทธเจ้ามักจะตรัสสอนด้วยอนุปุพพิกถา ได้แก่ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์การออกจากกาม ก็เพื่อที่จะค่อยๆดับตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ปล่อยวางอุปาทานในสิ่งต่างๆลงตามลำดับดังนี้ • ทาน ทำให้ตัดความตระหนี่ในของๆตน กล้าที่จะสละของๆตนให้ผู้อื่น ทำให้ไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ และมีอานิสงส์ทำให้ชาติต่อไป มีสมบัติเพียบพร้อมด้วยบุญที่ทำ ลดความยึดติดในของๆตน เป็นก้าวแรกของการลดความยึดติดอื่นๆต่อไป • ศีล ทำให้ตัดขาดจากการทำชั่วทางกาย และวาจา เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง ละเว้นจาการทำบาปหลายประการ ทำให้ไม่ปล่อยให้ตัณหามามีอิทธพลต่อใจให้ทำเรื่องไม่ดี รู้จักหักห้ามใจ ทำให้ปล่อยวางจากการทำบาป ทำให้ไม่ต้องประสบทุกข์ในอบาย • สวรรค์ ทำให้ใจหันจากบาป มาใส่ใจในบุญ ในความดี ทำให้เกิดสัมมาทิฐิในเรื่องบาปบุญคุณโทษ โลกนี้โลกหน้า ทำให้มุ่งหน้าละชั่ว ทำความดี ตัดขาดจากตัณหาที่จะนำให้ไปทำบาป • โทษของกาม ทำให้ยกระดับใจมากยิ่งกว่าขั้นที่ผ่านมา ทำให้ใจปล่อยวางกามตัณหา ซึ่งทำได้ยากมากสำหรับปุถุชนทั่วไป • อานิสงส์แห่งกาออกจากกาม ช่วยในการปล่อยวางกามตัณหาลง ทำให้ใจน้อมไปในการประพฤติพรหมจรรย์ ปฏิบัติตนให้พ้นจากกองทุกข์พระพุทธเจ้าได้ทรงเริ่มสอนให้คนธรรมดาหัดปล่อยวาง ละตัณหาลงตามลำดับด้วยประการฉะนี้
บทส่งท้าย
บทความนี้ได้ทำการรวบรวมอธิบายคำแปลและความหมายของบทธัมมจักกัปวัตตนสูตรนี้
โดยได้ดึงเอาพระสูตรบทอื่นๆในพระไตรปิฎก พระธรรมเทศนาของพระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร)
และของพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) รวมถึงบทความธรรมะอื่นๆ
เข้ามาประกอบเพื่ออธิบายขยายความเนื้อหาในบทธัมมจักฯ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาความหมายของบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตรต่อไป
ขอบุญกุศลที่ผู้เขียนตั้งใจเขียนบทความธรรมะนี้ จงส่งถึงพ่อแม่
ครูบาอาจารย์ ตลอดจนถึงหมู่ญาติผู้มีอุปการคุณ ขอให้พระพุทธศาสนาคงดำรงอยู่สืบไป
ขอจักรแห่งธรรมของพระพุทธเจ้าจงเป็นไปสิ้นกาลนานเทอญ.
จบตอนที่
8
จบบริบูรณ์
อ้างอิง
โกณฑัญญพุทธวงศ์
http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=33&siri=194
มังคลพุทธวงศ์
<http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=33&siri=195>
โคตมพุทธวงศ์
<http://84000.org/tipitaka//attha/m_siri.php?B=33&siri=217>
เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ
<http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=24&p=4>
เหตุที่ทำให้แผ่นดินไหว [มหาปรินิพพานสูตร]
<http://www.dhammahome.com/webboard/topic/17584>
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น