เมื่อพระพุทธเจ้าปะทะเกรียน ตอนที่ 4 (ตอนจบ)
ต่อจากตอนที่แล้ว เมื่ออัมพัฏฐมาณพหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวของตน พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมแก่มาณพอัมพัฏฐมาณพให้ลดทิฐิมานะของตนลง และเข้าใจถึงความรู้แจ้งและการประพฤติให้ถึงความรู้แจ้งนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นชนชั้นวรรณะไหน ตรงข้ามหากต้องการจะบรรลุถึงความรู้แจ้ง จะต้องวางเรื่องของชนชั้นวรรณะลงไปเสียก่อน ทรงแสดงธรรมทำลายทิฐิมานะในจิตใจของนายอัมพัฏฐะให้หมดสิ้นไป
“อัมพัฏฐะ ในวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม เขาไม่อ้างชาติ ไม่อ้างตระกูล หรือไม่อ้างความถือตัวว่า ท่านคู่ควรกับเราหรือท่านไม่คู่ควรกับเรา แต่ในที่ที่มีอาวาหมงคล วิวาหมงคล หรืออาวาหมงคลและวิวาหมงคล เขาจึงอ้างชาติ อ้างตระกูล หรืออ้างความถือตัวว่า ท่านคู่ควรกับเราหรือท่านไม่คู่ควรกับเรา”
“อัมพัฏฐะ ชนที่ยึดติดเพราะอ้างชาติ ยึดติดเพราะอ้างตระกูล ยึดติดเพราะอ้างความถือตัวหรือยึดติดอยู่กับอาวาหมงคลและวิวาหมงคล ชื่อว่ายังอยู่ห่างไกลจากวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม”
“อัมพัฏฐะ การทำให้แจ้งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยมย่อมมีได้เพราะละการยึดติดเพราะอ้างชาติ การยึดติดเพราะอ้างตระกูล การยึดติดเพราะอ้างความถือตัวและการยึดติดอยู่กับอาวาหมงคลและวิวาหมงคลแล้วเท่านั้น”การฟังธรรมอันประเสริฐทำให้จิตใจของอัมพัฏฐมาณพที่แต่เดิมดำมืดด้วยความถือตัว เย่อหยิ่ง พลันสว่างด้วยแสงแห่งธรรมของพระพุทธเจ้า ถึงแม้จะไม่ถึงขนาดบรรลุธรรมอะไร แต่ก็ทำให้ลดทิฐิมานะในใจลงไปได้มาก เมื่อได้พบลักษณะมหาบุรุษทั้ง 32 ประการตามที่ตนมุ่งหมายแล้ว จึงได้ทูลลาพระพุทธเจ้ากลับไปรายงานอาจารย์ของตน ทำให้พราหมณ์โปกขรสาติทั้งดีใจและโมโหในเวลาเดียวกัน ดีใจที่พระพุทธเจ้ามีลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการจริงตามที่ตนคาดหวัง แต่ก็โมโหที่ลูกศิษย์ที่ตนฝากงานสำคัญไปกลับทำตัวเสียมารยาทอย่างไม่น่าให้อภัย จึงได้ประเคนบาทาใส่ศิษย์ของตนจนล้มกลิ้ง ก่อนที่จะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยตนเองในที่สุด...
เรื่องของอัมพัฏฐมาณพจากอัมพัฏฐสูตรนี้ให้ข้อคิดแก่เราหลายประการ ที่เด่นชัดที่สุดก็คือการนินทาสรรเสริญซึ่งมีอยู่คู่โลกเรามาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าใครต่างก็ต้องพบเจอเช่นเดียวกันหมด ไม่เว้นแม้แต่พระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูของพวกเราทั้งหลาย ซึ่งพระองค์ก็จัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้นให้จบลงด้วยดีกันทุกฝ่าย (ไม่อยากจะคิดเลยว่า หากอัมพัฏฐมาณพไปโจมตีเจ้าศากยะองค์อื่นเช่นนี้ คงไม่แคล้วต้องเกิดสงครามระหว่างแคว้นเป็นแน่)
สำหรับเรื่องนี้ บางคนที่ไม่เข้าใจอาจคิดไปไกลว่า พระพุทธเจ้าทรงด่าว่าบุคคลอื่น แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไปจะพบว่า พระองค์เพียงแต่ยกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมากำหราบทิฐิมานะของอัมพัฏฐมาณพเสียก่อน แน่นอนว่าคนที่กำลังโกรธด่าฉอดๆไม่ลืมหูลืมตา จะเทศน์สั่งสอนอย่างไรก็ไม่รับฟังเป็นแน่ จำต้องทำให้ได้สติเสียก่อน แล้วจึงจะเทศน์สอนให้เข้าใจธรรมะได้ นี่เป็นความจริงในการสนทนากันที่ทั้งสองฝ่ายต้องมีเหตุผลและรับฟังความเห็นอีกฝ่าย การสนทนานั้นจึงจะเป็นไปได้อย่างราบลื่น การเป็นมิตรสหายกันก็เริ่มต้นจากจุดนี้ แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเอาแต่ใส่อารมณ์โจมตีว่าร้ายอีกฝ่าย การสนทนานั้นก็ไร้ผล แทนที่จะได้เพื่อนกลับได้ศัตรูแทน ไม่ต้องพูดถึงการว่าร้ายใส่อารมณ์ต่อกัน กลายเป็นการทะเลาะวิวาทกันในที่สุด
เรื่องที่เกิดขึ้นในคราวนี้ พระพุทธเจ้าสามารถรับมือได้อย่างยอดเยี่ยม ในช่วงเริ่มต้นของการสนทนา เมื่ออีกฝ่ายพูดจาดูถูกให้กดให้พระองค์ดูต่ำต้อยกว่า ซึ่งจะทำให้คำพูดของพระองค์ไร้ความหมาย แบบนี้อย่าว่าแต่จะเทศน์สอนเลย แม้เพียงการพูดสนทนาทั่วไปก็จะไม่มีใครรับฟัง นั่นจึงทำให้พระองค์ต้องใช้ไม้แข็งกลับพอให้อีกฝ่ายยอมเสียก่อน ข้อนี้เห็นได้ชัดที่อัมพัฏฐมาณพถูกมาณพคนอื่นดูถูกเหยียดหยาม พระองค์ก็ห้ามปราม แล้วกล่าวยกย่องให้มาณพยังมีหน้ามีตาในสังคมต่อไป เพราะพระองค์ไม่ได้ต้องการจะทำลายมาณพให้ไม่มีที่ยืนในสังคม (แม้ว่าจะมาณพจะมีเจตนาทำลายพระองค์ก็ตาม) แต่พระองค์ทรงยกเหตุผลมาหักรานคำดูหมิ่นของอัมพัฏฐมาณพ เพื่อให้ดึงให้มาณพใช้เหตุผลในการสนทนาอย่างที่คนเจริญแล้วทำกัน ไม่ใช่โจมตีอีกฝ่ายด้วยความเกลียดชังอย่างไร้เหตุผล ในช่วงหลังแห่งการสนทนาอัมพัฏฐมาณพจึงยอมรับฟังพระธรรมเทศนาอย่างสงบเสงี่ยม การสนทนาครั้งนี้จึงจบลงด้วยดี เหมือนน้ำที่ดับไฟไม่ให้ลุกลามฉะนั้น...
นี้เป็นแง่คิดที่ผู้เขียนได้เมื่อได้อ่านศึกษาพระไตรปิฎกด้วยตนเอง เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น เนื้อหาที่ยกมาก็ค่อนข้างสั้นสักหน่อย หากสนใจอ่านเนื้อหาต้นฉบับสามารถหาเอาได้จากอ้างอิงที่แนบมาครับ
ขอความเจริญในธรรม จงมีแก่ผู้อ่านทุกท่าน.
อ้างอิง
อัมพัฏฐสูตร http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=09&A=1920&Z=2832
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น